เก็บ“หลวงพระบาง”ไว้ในใจเสมอ

 

 

 

   หน้าหลัก      

22 สิงหาคม 2548

 

มาหลวงพระบาง   แล้วจะไม่มีวันลืมเลือนไปจากใจ   ยากจะหักใจลืมซะจริง ๆ ๆ อยากไปอยู่หลวงพระบางจังเลย

 

             

หลวงพระบางเมืองสงบงามท่ามกลางขุนเขารายล้อม

              1...
       
       
“ได้มาถึงถิ่น ดินแดนเขาเล่าลือนาม โอ้เมืองงดงาม สมเป็นมิ่งขวัญชาวเมือง โอ้หลวงพระบางดินแดนผู้คนเขากล่าว งามแท้เดงามหลายแท้เจ้า สมคำเล่าลือก้องไปไกล...”
       
       ท่อนแรกของบทเพลง
“หลวงพระบางยุคใหม่” ขับร้องโดย “จันสะไหม ใพยะสิด” (คลิกฟังเพลงได้ที่ไอคอนมุมขวาบน)
       
       อันที่จริงแล้วบทเพลงที่ขับขานเกี่ยวกับเมือง
“หลวงพระบาง”นั้นมีอยู่มากมายหลายเพลง
       
       แต่สำหรับเพลง“หลวงพระบางยุคใหม่”หัวใจผมขอสารภาพว่าชื่นชอบใน
“ชื่อ”ของเพลงนี้มาก เพราะหลวงพระบางในวันนี้ไม่ใช่“แดนยูโธเปียของนักอุดมคติ”เหมือนเมื่ออดีต
       
       แต่หลวงพระบางในวันนี้คือ
“เมืองท่องเที่ยวมรดกโลก”ที่ยังคงน่าเดินทางไปยลในความงาม โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบในวิถีดั้งเดิมของคนลาวที่ส่วนใหญ่ยังคงบริสุทธิ์ จริงใจ เรียบง่าย ท่ามกลางบรรยากาศเมืองเก่าอันชวนมอง ผสานไปกับวิถีส่วนหนึ่งที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพการณ์ของเมืองท่องเที่ยวแห่งยุคโลกาภิวัตน์ ที่มี 2 ปัจจัยสำคัญทำให้เมืองหลวงพระบางเกิดการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นนั่นก็คือ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” และ“ทีวีไทย” !?!
       
       
2...
       
       
“...ได้มาเห็น บ่อยากจากลา โอ้งามแท้หนาสายธาราน้ำของ น้ำคาน ผู้เฒ่าผู้นาง ยอดพูสีบ่มีไสปาน งามวัดวาอาราม หลวงพระบางเจ้างามแท้หนอ...”ท่อนสองของ บทเพลง “หลวงพระบางยุคใหม่

ตักบาตรข้าวเหนียววิถีอันงดงามของคนเมืองหลวงพระบาง

 

              “รักแรกพบ” เป็นอาการที่เกิดทันทีหลังจากได้เห็นเมืองหลวงพระบางครั้งแรก ครั้นพอผมได้มีโอกาสท่องเมืองเล็กๆแห่งนี้ อารมณ์ "รักซึมลึก" จนเกิดอาการ...ได้มาเห็น บ่อยากจากลา...ดังในบทเพลงหลวงพระบางยุคใหม่ก็ได้เข้ายึดกุมหัวใจผมทันที เพราะว่าเมืองเล็กๆเมืองนี้มีสีสันและบรรยากาศอันเปี่ยมเสน่ห์ให้ชวนสัมผัสอยู่ทั่วไป
       
       เริ่มตั้งแต่เช้ามืดไปจวบจนถึงค่ำมืด โดยวิถียามเช้าของชาวหลวงพระบางที่ยังคงงดงามมีเอกลักษณ์และเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ก็เห็นจะไม่มีอะไรเกิน
“การตักบาตรข้าวเหนียว” ที่ในทุกๆเช้าของแต่ละวัน ชาวหลวงพระบางผู้แนบแน่นในพระพุทธศาสนาจะตื่นขึ้นมาแต่เช้าเพื่อเตรียมข้าวของไว้สำหรับตักบาตรข้าวเหนียว
       
       หลังจากนั้นพอฟ้าเริ่มสาง เสียงตุ๊มๆๆ..ของ
“กะลอ”(เครื่องเคาะของลาวมีลักษณะคล้ายกลอง)ดังขึ้นจากหลายๆวัด บรรดาญาติโยมต่างก็จะหอบหิ้วข้าวของมานั่งอย่างสงบรอพระออกบิณฑบาต ซึ่งหากเป็นวันพระจะมีเหล่าฆราวาสมารอตักบาตรข้าวเหนียวเป็นจำนวนมาก แต่หากเป็นวันปกติก็จะมีอยู่พอประมาณ
       
       พอสิ้นเสียงกะลอได้ไม่นาน เหล่าพระสงฆ์นับร้อยรูปก็จะเดินเรียงแถวยาวเหยียดมาให้ญาติโยมได้ใส่บาตรกันจนถ้วนทั่ว
       
       ภาพเหล่านี้คือวิถีปกติของชาวหลวงพระบาง แต่สำหรับนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ การตักบาตรข้าวเหนียวคือภาพอันชวนตื่นตาตื่นใจ เป็นไฮไลท์ของการท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง
       
       ด้วยเหตุนี้เมื่อ“อุปสงค์”การตักบาตรข้าวเหนียวของนักท่องเที่ยวมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ชาวลาวหลายๆคนปิ๊งไอเดียนำข้าวเหนียวใส่กะติ๊บออกมาเร่ขายให้นักท่องเที่ยวเพื่อใช้ในการตักบาตรข้าวเหนียว
       
       การตักบาตรข้าวเหนียวของหลวงพระบางยุคใหม่ในวันนี้ จึงมีการผสมผสานกันระหว่าง ภาพพระ-เณรที่ออกบิณฑบาตเป็นแถวยาวเหยียด ภาพญาติโยมชาวหลวงพระบางในชุดพื้นเมืองนั่งใส่บาตรอย่างนอบน้อมแต่ว่องไวในการจกข้าวเหนียวลงบาตร ภาพนักท่องเที่ยวร่วมตักบาตรข้าวเหนียวด้วยความศรัทธาผสมความตื่นเต้นและอยากลอง ภาพนักท่องเที่ยวมาตั้งกล้องรอบันทึกภาพตักบาตรข้าวเหนียว และภาพแม่ค้าหาบกะติ๊บข้าวเหนียวเร่ขายให้กับนักท่องเที่ยวที่นับวันยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ตลาดเช้าสีสันแห่งวิถีของชาวหลวงพระบาง

 

              ครั้นการตักบาตรข้าวเหนียวพ้นผ่านไป วิถียามเช้าของชาวหลวงพระบางก็ดูเหมือนว่าจะเพิ่มความคึกคักขึ้น ร้านรวงต่างๆเริ่มทยอยกันเปิด ร้านข้าวเปียก ข้าวปุ้น เฝอ ที่เป็นแผงลอยเล็กๆมีชาวลาวเวียนเข้า-ออกมานั่งกินกันอย่างต่อเนื่อง ส่วนสภากาแฟลาวก็จัดว่ามีการพูดคุยที่คึกคักไม่แพ้กัน แต่ว่าส่วนใหญ่จะเป็นการพูดคุยกันในเรื่องสัพเพเหระทั่วไป ไม่ใช่การพูดคุยในประเด็นทางการเมืองอย่างสภากาแฟส่วนใหญ่ในเมืองไทย ในขณะที่ร้านกาแฟร่วมสมัยส่วนใหญ่จะมีนักท่องเที่ยวเข้าไปนั่งทอดอารมณ์จิบกาแฟยามเช้าดูวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบางอยู่ทั่วไป
       
       สำหรับร้านกาแฟยามเช้าอันโด่งดังของหลวงพระบางในยุคนี้คงจะไม่มีร้านไหนโดดเด่นเกินร้าน
“ประซานิยม” ร้านกาแฟเล็กๆใต้ต้นมะม่วงตรงริมถนนเลียบโขงเยื้องกับวัดโพนชัย ที่มีกาแฟลาวปากซองรสนุ่มละมุนหอมกรุ่นให้ดื่มยามเช้า ซึ่งแก้ง่วงและแก้อาการแฮงก์ได้ดีทีเดียว
       
       ส่วนบริเวณใกล้ๆกันนั้นเป็น
“ตลาดเช้า” ที่มีความคึกคักเป็นพิเศษ ซึ่งหากเดินตรงไปจากสี่แยกกลางเมืองที่มีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ตรงหัวมุมถนน เดินไปสักพักก็จะถึงยังตลาดเช้า ที่ในทุกๆเช้าตลาดแห่งนี้จะมีพ่อค้า-แม่ค้านำสินค้าพื้นเมือง พืชผลทางการเกษตร และอาหารพื้นบ้าน มาวางขายกันทั่วไป ในขณะที่ชาวบ้านแถวนั้นต่างก็ออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของกันอย่างคึกคัก นับเป็นบรรยากาศที่อบอวลไปด้วยวิถีของชาวหลวงพระบางโดยแท้จริง
       
       พอถึงยามสายที่แสงแดดเริ่มแรงขึ้น ความคึกคักในเมืองนี้ดูเหมือนจะจางหายลงไปมาก
       
       ในขณะที่ชาวหลวงพระบางใช้ชีวิตช่วงสายไปจนถึงบ่ายอย่างเนิบนาบ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวแล้วช่วงเวลานี้คือเวลาทองของการออกท่องใจเมืองหลวงพระบาง โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมตั้งต้นที่
“สี่แยกกลางเมือง”จากนั้นก็ตระเวนเที่ยวไปบนถนนสายหลักกลางเมือง(ถ.สีสะหว่างวง) ที่หากใครใจไม่แข็งพอก็อาจจะต้องถูกดูดทรัพย์จาก“ตลาดม้ง” ที่อยู่ทางขวามือ ซึ่งเป็นตลาดขายของที่ระลึกของชาวม้งหรือลาวสูงที่ส่วนใหญ่เป็นพวกผ้าทอ ผ้าซิ่น ผ้าพันคอ เสื้อผ้า ย่าม กระเป๋า ที่หากใครมีความสามารถในการต่อรองราคาก็สามารถงัดวิทยายุทธ์มาใช้ที่ตลาดม้งได้อย่างเต็มที่

พระธาตุจอมพูสี ใจเมืองแห่งหลวงพะบาง

 

              และถึงแม้ว่าถนนท่องใจกลางเมืองหลวงพระบาง จะเป็นถนนสายสั้นๆแต่ว่าก็มีเต็มไปด้วย อาคารเก่าแบบฝรั่งเศส แบบจีน วังเก่า ห้องแถวและบ้านเรือนแบบลาวให้ชมกันอย่างเต็มตา 2 ฟากฝั่งถนน อาคารบ้านเรือนหลายๆหลังแปรเปลี่ยนเป็นร้านอาหาร ร้านกาแฟ โรงแรม และร้านขายของที่ระลึกตามวงจรของโลกแห่งการท่องเที่ยวยุคโลกาภิวัตน์ ส่วนที่ยังคงเอกลักษณ์ไว้อย่างเด่นชัดก็คือบรรดาวัดวาอารามต่างๆที่แทรกในใจกลางเมืองนี้มีวัดมากถึง 26 วัด
       
       สำหรับวัดและอาคารบ้านเรือนที่เด่นๆก็มี วัดเชียงทอง วัดวิชุน วัดใหม่สุวันนะพูมาราม หอพิพิธภัณฑ์เมืองหลวงพระบาง(พระราชวังหลวงเดิม) บ้านเจ็ก เฮือนมรดกเชียงม่วน (เรื่องราวของสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในเมืองหลวงพระบางจะกล่าวถึงในตอนต่อไป)
       
       นอกจากสถาปัตยกรรมที่ชวนมองแล้ว เมืองหลวงพระบางนั้นมีใจเมืองหรือหลักเมืองอยู่ที่
“พระธาตุจอมพูสี” บนยอดพูสี ที่ตามตำนานเล่าว่า มีฤาษีสองพี่น้องคือ คืออามะละและโยทิกะ ได้เลือกพูสีเป็นใจเมืองเนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสม
       
       ปัจจุบันพูสีนับเป็นหนึ่งในจุดท่องเที่ยวอันสำคัญของเมืองหลวงพระบางที่ในแต่ละวันจะมีนักท่องเที่ยวเดินขึ้นยอดพูสีกันไม่ได้ขาด
       
       ยอดพูสีมีทางขึ้น 2 ทาง แต่ว่าคนส่วนใหญ่นิยมขึ้นพูสีโดยใช้เส้นทางริมถนนกลางเมือง แล้วเดินขึ้นไปบนบันได 328 ขั้น ที่ระหว่างทางร่มรื่นไปด้วยซุ้มต้นจำปา(ลั่นทมหรือลีลาวดี)ดอกไม้ประจำชาติลาว ซึ่งหากใครมาช่วงจำปาออกดอกก็จะได้สัมผัสกับกลิ่นหอมเย็นของดอกจำปาอบอวลทั่วไป
       
       พอถึงบนยอดพูสี ข้างบนจะมีพระธาตุจอมพูสี ที่สร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ตั้งโดดเด่นเป็นสีทอง ยิ่งยามที่ต้องกับแสงแดดอ่อนๆสีทองในยามเย็นนั้นองค์พระธาตุจอมพูสีจะต้องแสงดูเหลืองทองอร่ามงามตานัก

พระราชวังหลวงเดิมสร้างอย่างสง่างามริมฝั่งแม่น้ำโขง(มองจากยอดพูสีฝั่งแม่น้ำโขง)

 

              ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพูสีก็คือในช่วงวันสังขานของเทศกาลสงกรานต์ ชาวหลวงพระบางจะพร้อมใจกันร่วมตักบาตรพูสีด้วยการเดินขึ้นพูสี นำอาหารไปวางไว้ตามทางเดินและโยนขึ้นไปยังองค์พระธาตุเพื่อเป็นการทำบุญทำทานรับวันปีใหม่ลาว
       
       ส่วนในวันปกติยอดพูสีคือจุดชมวิวเมืองหลวงพระบางชั้นยอด ที่หากมองไปทางฝั่งแม่น้ำโขงก็จะเห็นพระราชวังหลวงเดิมตั้งเด่นเป็นสง่าริมฝั่งแม่น้ำโขง ส่วนหากมองไปในด้านตรงข้ามก็จะเห็นสายน้ำคานไหลเลี้ยวเคียงคู่กับอาคารบ้านเรือนที่ปลูกสร้างอย่างหลวมๆท่ามกลางขุนเขารายล้อม
       
       และที่น่าสนใจก็คือหลวงพระบางในวันนี้ยังไม่มีตึกสูงขึ้นโด่เด่มาทำลายทัศนียภาพของเมืองอันสงบงาม...
       
       
3...
       
       
“...เจ้าจงก้าวขึ้นสมคำเขากล่าวลือกัน ชาวเมืองสุขสรรค์สร้างสาทำมาหากิน เจ้าจงก้าวไปตามทางสว่างรู้แจ้ง หลวงพระบางประสาปั้นแต่งจงใสแจ้งเมืองส่องแสง...” ท่อนจบของบทเพลง“หลวงพระบางยุคใหม่”(คลิกฟังเพลงได้ที่ไอคอนมุมขวาบน)
       
       ท่ามกลางกระแสธารแห่งธุรกิจท่องเที่ยวในยุคโลกาภิวัตน์ที่รุกเร้าหนักขึ้นเรื่อยๆ หลวงพระบางในวันนี้ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยวิถีล้านช้างดั้งเดิมที่ บริสุทธิ์ จริงใจ เรียบง่าย
       
       แต่หลวงพระบางในวันหน้าจะเป็นเช่นไรนั้น??? ยากที่จะตอบได้
       
       
สำหรับผมในวันนี้จึงพยายามเก็บความทรงจำอันสวยงามของเมืองงามนาม “หลวงพระบาง” ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้...


        
หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางเหนือของสปป.ลาว อดีตเคยเป็นนครหลวงของอาณาจักรลานช้าง ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2538 ใช้เงินกีบเป็นหลักในการซื้อขายโดย 1 บาท ประมาณ 250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทได้ คนไทยสามารถเข้าหลวงพระบางได้โดยไม่ต้องทำวีซ่า