|
วัดเชียงทอง
อันงดงามที่เป็นดังอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว(ภาพ:เสรี
ตันศรีสวัสดิ์) |
|
|
หลวงพระบาง อดีตเมืองหลวงเก่าแก่ของลาว
เมืองเล็กๆที่ตั้งอยู่ท่ามกลางขุนเขาที่โอบล้อม อุดมไปด้วยวัดวาอารามเก่าแก่
และบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในสไตล์โคโลเนียลสไตล์
ตัวเมืองตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขงหรือที่คนลาวเรียกกันว่า แม่น้ำของ
และแม่น้ำคานที่ไหลมาบรรจบกันเกิดเป็นแหลมกลางเมือง ซึ่งเป็นจุดเดียวกันกับ
ภูสี ภูเขาหนาดย่อมที่มีพระธาตุจอมสีประดิษฐานอยู่บนยอด
ซึ่งคงอยู่มานานหลายร้อยปี
อาคารรูปแบบโคโรเนียลอายุกว่า 100 ปีนั้นในยุคแรกๆถูกใช้เป็นสำนักงานหรือที่คนลาวเรียกกันว่าห้องการ
ของหน่วยราชการที่รับผิดชอบการปกครองเมืองและแขวงหลวงพระบาง
จุดเด่นของอาคารเหล่านี้ก็คือวิธีการสร้างที่มีการผสมปูนซึ่งใช้ส่วนผสมจากวัตถุดิบทางธรรมชาติ
ได้แก่ น้ำอ้อยและหนังควาย โดยนำมาผสมรวมกัน และมีการดัดแปลงรูปแบบให้มีความเป็นลาวมากขึ้น
ด้วยการประดับภาพลาวปูนปั้นตามความเชื่อทางศาสนาไว้บริเวณหน้าจั่ว
องค์การยูเนสโก(UNESCO)ยกย่องให้หลวงพระบางเป็น เมืองมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่ยังมีลมหายใจ
เมื่อเดือนธันวาคม 2538 นับตั้งแต่นั้นนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลกต่างมุ่งตรงมา
เพียงเพื่อจะสัมผัสความงดงามของเมืองมรดกโลก ที่ยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นตัวของตัวเองในแบบอาณาจักรล้านช้างเมื่อครั้งอดีต
ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมการกิน ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะความบริสุทธิ์ของชาวหลวงพระบาง
ที่ยิ้มแย้มแจ่มใสและคงความมีมิตรภาพเหมือนเมื่อครั้งอดีต
ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ดึงดูดประการสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลก
ต่างพยายามหาโอกาสมาเยี่ยมเยือนเมืองแห่งนี้ ที่ยังคงวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม
ระบบเงินตรา
สกุลเงินของลาวคือกีบ
อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 1 บาทประมาณ
250 กีบ แต่สามารถใช้เงินบาทหรือเงินดอลลาร์สหรัฐได้
สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ
วัดเชียงทอง เป็นวัดที่สำคัญ
สวยงามและเป็นที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมากที่สุด นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว
สร้างขึ้นโดยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทร์ไม่นานนัก
ผนังด้านหลังของพระอุโบสถทำจากกระจกสีตัดต่อกันเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่
ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เคยมีอยู่ในหลวงพระบาง คล้ายกับต้นโพธิ์
ด้านข้างเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดี จุดเด่นที่น่าในใจอีกจุดของวัดเชียงทองอยู่ที่โรงเมี้ยนโกศ
หรือโรงเก็บราชรถ ประตูด้านนอกแกะสลักเรื่องราวของรามเกียรติ์
โดยช่างแกะสลักชื่อ เพียตัน ช่างฝีมือดีประจำองค์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
แต่เดิมเป็นการลงรักปิดทองแต่ปัจจุบันบูรณะใหม่ด้วยการทาสีทอง
พระราชวังหลวงพระบาง สร้างขึ้นปี
ค.ศ.1904
ก่อนเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ขึ้นครองราชสมบัติ
1 ปี ออกแบบโดยสถาปนิกชาวฝรั่งเศส
เป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นสูงแบบฝรั่งเศส แต่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นฝรั่งเศสและลาว
หลังคายอดปราสาทเป็นศิลปะลาวล้านช้าง ที่นี่จึงถูกเปรียบเทียบว่าเป็นลักษณะของ
ฝรั่งสวมชฎา เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ประทับอยู่ที่นี่จนสิ้นพระชนม์
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงถูกเปลี่ยนให้เป็นพิพิธภัณฑ์วังเจ้ามหาชีวิตแทน
ภายในประกอบด้วย ห้องฟังธรรม จัดแสดงธรรมาสน์ไม้แกะสลักสกุลช่างหลวงพระบาง
และพระพุทธรูปสำริดสกุลช่างลาวโบราณ ช่วงศตวรรษที่ 17-19
ห้องที่สองด้านขวามือเป็น ห้องพิธี หรือ ห้องรับแขก มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเกี่ยวกับวิถีชีวิตชาวลาวโดยช่างฝีมือชาวฝรั่งเศส
เมื่อปีพ.ศ.1930 ห้องที่สามเป็น ท้องพระโรง
ประดับกระจกหลากสีบนพื้นสีทอง เป็นห้องที่เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนาเตรียมไว้เพื่อทำพิธีราชาภิเษก
แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเสียก่อน ปัจจุบันเป็นที่จัดแสดงราชบัลลังก์ไม้แกะสลักหุ้มทองและเครื่องสูงทั้ง
5 ได้แก่ จามร รองพระบาท กระบี่หรือพระขรรค์
และพระแสงของ้าว ส่วนมหามงกุฎได้รับการเก็บรักษาไว้ในตู้นิรภัยไม่ได้นำมาแสดงไว้รวมกัน
ส่วนด้านหลังเป็น ที่ประทับของเจ้ามหาชีวิต เครื่องใช้ไม้สอยเป็นแบบฝรั่งดูเรียบง่ายไม่หรูหรา
เตียงพระบรรทมเป็นไม้สักฝีมือช่างไทยในสยามในสมัยนั้น
ภายนอกอาคารพระราชวังมี หอพระบาง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบาง
พระคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปศิลปะขอมสมัยหลังบายน
ปางประธานอภัยหรือปางห้ามสมุทร หล่อขึ้นจากทองคำถึง 90
เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมี อนุสาวรีย์เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์
ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย
พูสี ยอดเขาที่มีความสูงราว
150
เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองหลวงพระบาง เมื่อขึ้นไปบนยอดสามารถมองเห็นเมืองหลวงพระบางได้โดยรอบ
โดยมีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือตรงข้ามพระราชวัง
328 ขั้น ตลอดจนสองข้างทางร่มรื่นไปด้วยต้นจำปาหรือลั่นทม
ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของลาวที่จะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงฤดูร้อน
เชื่อกันว่าแต่เดิมบริเวณนี้เป็นเขตป่าศักดิ์สิทธิ์ ต่อมาเมื่อมีฤาษีขึ้นไปอาศัยอยู่ชาวบ้านจึงเรียกว่าพูฤาษี
หรือพูสีมาจนถึงปัจจุบัน นักโบราณคดีบางคนเชื่อว่า พูสีอาจหมายถึงพูศรี
มาจากคำว่าศรีซึ่งเป็นศรีของเมืองหลวงพระบาง ด้านบนเป็นที่ตั้งของพระธาตุจอมสี
ตัวพระธาตุเป็นทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมทาสีทอง ตั้งอยู่บนฐานสีเหลี่ยม
ยอดประดับด้วยเศวตฉัตรสีทองสำริด 7 ชั้น
สูงประมาณ 21 เมตร
บริเวณพูสียังมีสิ่งก่อสร้างทางพุทธศาสนาอีกหลายแห่ง แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก
อาทิ วัดพระธาตุจอมสี วัดถ้ำพูสี วัดป่าแค วัดป่ารวก วัดป่าฝาง
วัดป่าแมว เป็นต้น เนื่องจากวัดที่อยู่ในบริเวณนี้เป็นวัดป่ากรรมฐาน
จึงไม่มีสถาปัตยกรรมใหญ่ๆ จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 18
ต้นศตวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีการก่อสร้างพุทธสีมา กุฎีหอพระไตร หอไหว้พระด้วย
วัดใหม่สุวันนะพูมาราม ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่าวัดใหม่
เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชบุญทัน สังฆราชองค์สุดท้ายของลาวและยังเคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง
ในสมัยเจ้ามหาชีวิตสักรินทรฤทธิ์ จนกระทั่งปี พ.ศ.2437
จึงอัญเชิญไปประดิษฐานในหอพระบาง พระอุโบสถของวัดใหม่นี้มีขนาดใหญ่แตกต่างไปจากวัดอื่นๆ
มีชายคาปกคลุมทั้งสี่ด้าน ด้านข้าวยาวเกือบติดพื้นดิน ผนังด้านในมีภาพลงรักปิดทองปูนปั้นนูนสูงฝีมือเพียตัน
วัดวิชุน เจ้าชีวิตชุนราชโปรดฯให้สร้างวัดนี้ขึ้นมาเมื่อปีพ.ศ.1503
โดยอัญเชิญพระบางจากวัดมโนรมย์มาประดิษฐาน
เป็นวัดที่มีความแปลกจากวัดอื่นๆในหลวงพระบาง ตรงพระเจดีย์พระปทุม
หรือพระธาตุดอกบัวใหญ่ พระธาตุเจดีย์รูปโค้งที่คนลาวเรียกกันว่าพระธาตุหมากโม
ตามลักษณะที่คล้ายแตงโมผ่าครึ่ง ที่พระนางพันตีนเชียง พระอัครมเหสีโปรดฯให้สร้างขึ้นเมื่อปี
ค.ศ.1514 ช่วงปี ค.ศ.1914 พระธาตุหมากโมได้พังทลายลงมาบางส่วน เจ้ามหาชีวิตสว่างวงศ์และชาวหลวงพระบางจึงร่วมกันบูรณะพระธาตุนี้
จากการซ่อมแซมครั้งนั้นได้พบวัตถุมีค่าจำนวนมาก อาทิ พระพุทธรูปทองคำ
เงิน และทองสำริด พระพุทธรูปแกะสลักจากแก้วและอัญมณี รวมทั้งวัตถุทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมในช่วงศตวรรษที่
15 และ 16 อีกเป็นจำนวนมาก
ถ้ำติ่ง เป็นถ้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
ตั้งฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู ในภูเขาลูกใหญ่ที่ตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำโขง
ช่วงที่แม่น้ำอูไหลลงสู่แม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกกันว่า ผาแอ่น
ถ้ำติ่งประกอบด้วยถ้ำ 2 แห่ง
ได้แก่ ถ้ำติ่งเทิง(ถ้ำติ่งบน)และถ้ำติ่งลุ่ม(ถ้ำติ่งล่าง)ในสมัยโบราณใช้เป็นที่สักการะบวงสรวงดวงวิญญาณผีฟ้า
ผีแถน เทวดา ผาติ่ง แต่เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาแทนที่ถ้ำติ่งจึงกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนา
ของผู้แก่เฒ่าบอกว่าเจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบางต้องไปสักการะพระพุทธรูปในถ้ำ
เป็นประเพณีที่ขาดไม่ได้โดยเฉพาะในช่วงปีใหม่หลังเสร็จงานบุญที่หลวงพระบางแล้วประมาณ
2-3 วัน พระองค์จะนำข้าราชบริพานชั้นผู้ใหญ่
พระสงฆ์ และประชาชนขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ถ้ำติ่งบนก่อน
จึงลงมาทำพิธีที่ถ้ำติ่งล่าง ภายในถ้ำมีการค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่
15 และ 19จำนวนหลายพันองค์ และมีบางส่วนที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่
17 และ 20 ส่วนใหญ่ทำจากไม้
บางส่วนทำจากหินและโลหะ นอกจากนี้ยังมีการพบพระพุทธรูปที่ทำจากเงินและทองคำบุ
แต่ถูกลอกเอาเงินและทองคำออกไปหมด เหลือไว้แต่ดินเผาที่เป็นแกนกลาง
นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้วหลวงพระบางยังมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกมากมาย
อาทิ น้ำตกกวางสี บ้านเจ๊ก บ้านช่างไห บ้านช่างฆ้อง บ้านผานม
ฯลฯ
|